สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่าพระนเรศ หรือ "พระองค์ดำ" เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกมีพระเชษฐภคินีคือพระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช, พระนเรศ, องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช มาเป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สิริรวมการครองราชสมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา
ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ
ปกครองเมืองพิษณุโลก[แก้]
หลังจากพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ และได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของหงสาวดีแล้ว พระองค์ได้หนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาโดยที่พระเจ้าบุเรงนองทรงยินยอมอันเนื่องมาจากพระสุพรรณกัลยาทรงขอไว้ เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2115 สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชทานนามให้พระองค์ว่า "พระนเรศวร" และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราช พระชนมายุ 17 พรรษา ไปปกครองเมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงปกครองเมืองอย่างดีและทรงเริ่มเตรียมการที่จะกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา[2]
การที่ได้เสด็จไปประทับอยู่หงสาวดีถึง 8 ปีนั้น ก็เป็นประโยชน์ยิ่งเพราะทรงทราบทั้งภาษา นิสัยใจคอ ตลอดจนล่วงรู้ความสามารถของพม่า ซึ่งนับเป็นทุนสำหรับคิดอ่านเพื่อหาหนทางในการต่อสู้กับพม่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น อ้างว่าข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเกลียดชังสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงต้องถอนข้าราชการเมืองเหนือที่เคยใช้สอยลงมารับราชการในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนข้าราชการทางเมืองเหนือบกพร่องจึงต้องหาตัวตั้งขึ้นใหม่[3] พระองค์ทรงขวนขวายหาคนสำหรับทรงใช้สอยโดยฝึกทหารที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันตามวิธียุทธ์ของพระองค์ทั้งสิ้นและนับเป็นกำลังสำคัญของพระนเรศวรในเวลาต่อมา[4]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น